คนกินไข่ยิ้มร่า

คนชอบไข่ยิ้มร่า ผลวิจัยยันกินได้ทุกวันไม่เพิ่มโคเลสเตอรอล

คนชอบกินไข่ยิ้มร่า ผลวิจัยระบุชัดคนวัยทำงานสุขภาพดีสามารถรับประทานได้ทุกวัน โดยไม่ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลเพิ่มและไม่เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ระบุโคเลสเตอรอลไม่ได้เกิดจากการรับประทานอย่างเดียว หากร่างกายสามารถสร้างขึ้นมาได้เอง โดยเฉพาะในคนอ้วน
            วานนี้   (20 เม.ย.) ในงานมหกรรม “โครงการวิจัยบูรณาการจากหิ้งสู่ห้าง” ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)ได้จัดขึ้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ได้มีการเปิดเผยผลวิจัยของ น.พ.กรภัทร มยุระสาคร แพทย์จากกลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลสมุทรสาคร ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากกองโครงการบูรณาการนำร่อง โครงการวิจัยและพัฒนาสัตว์ปีกเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันอย่างยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของระดับคอเลสเตอรอลในเลือดหลังรับประทานไข่อย่างต่อเนื่อง

            น.พ.กรภัทร   เปิดเผยว่า จากวัดการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดหลังจากการรับประทานไข่อย่างต่อเนื่องจำนวน 1 ฟองต่อวันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ในโครงการที่ 1 และ 12 สัปดาห์ในโครงการที่ 2 ในคนวัยทำงานสุขภาพดี โดยศึกษากับผู้ที่เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ สำนักงานประกันสังคมทั้งหมด 22 และ 56 คนตามลำดับ อายุเฉลี่ยประมาณ 35 ปีนั้น

            ผลการทดลองพบว่า การบริโภคไข่ไม่ได้ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายที่เข้าไปอุดตันผนังเส้นเลือดสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการรับประทานไข่ในระยะยาว 12 สัปดาห์กลับทำให้โคเลสเตอรอลที่มีประโยชน์ สามารถเข้าไปละลายหรือนำพา โคเลสเตอรอลที่ไม่มีประโยชน์ให้ออกมาจากผนังเส้นเลือดสูงขึ้นมาก

            ดังนั้น จากการศึกษาครั้งนี้จึงสรุปได้ว่า การรับประทานไข่ติดต่อกันทุกวันในคนวัยทำงานสุขภาพดีนั้น ไม่มีผลเสียต่อระดับไขมันในเลือดแต่กลับมีผลดีต่อระดับไขมันในเลือดอีกด้วย

            น.พ.กรภัทรให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีข้อแนะนำจากนักวิชาการหลายคนแนะนำว่าให้ลดการรับประทานอาหารประเภทโคเลสเตอรอล เพราะเชื่อว่าจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น และมีการพูดถึงการจำกัดการรับประทานไข่ เพราะไข่แดงมีสารโคเลสเตอรอลสูง และจากการเผยแพร่ความเข้าใจดังกล่าวผ่านสื่อต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปีที่ผ่านมา มีผลทำให้เกิดการลดการบริโภคไข่ลง

            ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ไข่ไก่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ โดยไข่ไก่ 1 ฟอง น้ำหนักมาตรฐาน 50 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 71 แคลอรี มีสารอาหารที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ คือ โปรตีน 6.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 0.6 กรัม ไขมันรวม 4.9 กรัม โอเมก้า-6 0.67 กรัม โอเมก้า-3 0.07 กรัม ไขมันอิ่มตัว 1.53 กรัม โคเลสเตอรอล 213 มิลลิกรัม โดยในไข่แดงนั้นโคเลสเตอรอลมากเป็น 2 ใน 3 ของข้อกำหนดในการรับประทานไขมันต่อวัน แต่โคเลสเตอรอลในไข่แดงเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกาย

            "ในความเป็นจริงแล้วโคเลสเตอรอลที่อยู่ในอาหารไม่ได้แปลงไปเป็นโคเลสเตอรอลในเลือดโดยตรง จริงๆ แล้วปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือด ร้อยละ 80-90 นั้นร่ายกายสามารถสร้างได้เองจากตับ และวัตถุดิบหลักของตับในการสร้างโคเลสเตอรอลคือน้ำตาล โดยปริมาณที่สร้างจะแปรผันตามน้ำหนักตัว นั่นหมายถึงคนที่อ้วนจะมีการสร้างโคเลสเตอรอลในเลือดมากกว่าคนที่ผอม" 

            "ทั้งนี้ โคเลสเตอรอลไม่ไช่ไขมันแต่คือไข ซึ่งได้มาจากคนและสัตว์ และเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการทำงานของร่างกาย" นพ.กรภัทรกล่าว และว่า โคเลสเตอรอลพบได้ทุกเซลล์ในร่างกายใช้ในการผลิต กรดน้ำดี เพื่อใช้ในการดูดซึมไขมัน และวิตามินที่ละลายในไขมัน เข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินอาหาร 

            น.พ.กรภัทรกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ไขมันอิ่มตัวมีส่วนสัมพันธ์กับการเพิ่มโคเลสเตอรอลในเลือดจริง ดังนั้น จึงควรเลี่ยงบริโภคไขมันอิ่มตัวเช่น เนย ครีม น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว มันจากสัตว์  

            "โคเลสเตอรอล เป็นสารที่ร่างกายผลิตได้เองโดยตับ และในทฤษฎีนั้นไข่ไม่มีผลเสียใดๆ ต่อร่างกาย แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีงานวิจัยรองรับในเรื่องนี้ เพราะยังไม่เคยมีการทดลองกับผู้ป่วย เรื่องนี้จึงยังคงเป็นคำถามที่จะต้องทำวิจัยต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศมีการเก็บข้อมูลพบว่าไข่ไม่ได้เป็นตัวเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ"  น.พ.กรภัทรกล่าวทิ้งท้าย

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 21 เมษายน 2548 10:06 น. 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *